วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เราหลงลืมอะไรบางอย่าง (2551)


       
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง (2551)

          เป็นครั้งแรก ที่รวมเรื่องสั้นเล่มแรกในชีวิตของนักเขียนคนหนึ่ง คว้ารางวัล "วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน" หรือ "ซีไรต์"

ไม่แปลก เพราะหากมองตามกติกา ของคณะกรรมการรางวัลซีไรต์ ก็ตัดสินกันที่ผลงาน หาใช่ว่าใครทำงานมานานกว่าใคร หรือใครมีผลงานเขียนมาแล้วมากกว่ากัน ดังนั้น การที่หนังสือเล่มแรกของนักเขียนคนหนึ่ง จะได้รับรางวัลระดับชาตินี้ จึงเป็นเรื่องชอบธรรมที่น่ายกย่องคณะกรรมการตัดสิน ถึงแม้ว่าในวันประกาศผลที่ผ่านมานั้น ข่าว "ซีไรต์" จะไม่ได้ครึกโครม อันเนื่องจากถูกข่าวเหตุบ้านการเมืองกลบทับ ก็ตามที

รวมเรื่องสั้นที่พูดถึงชื่อ "เราหลงลืมอะไรบางอย่าง" นักเขียนคนหนึ่งนั่นคือ "วัชระ สัจจะสารสิน"

"หนังสือเรื่องสั้นเล่มนี้ เป็นงานเขียนที่สะท้อนภาพชีวิตและสังคมในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าสังคมปัจจุบัน มนุษย์มีความขัดแย้งต่อสู้และแข่งขันกันทางการเมือง-สังคม-วัฒนธรรม มนุษย์เปลี่ยนไปตามโลกโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว จากความละเมียดละไมไปสู่ความหยาบกระด้าง จากคนที่มีน้ำใจไมตรีไปสู่คนเพิกเฉยเย็นชา จากสังคมเรียบง่ายไปสู่สังคมที่ซับซ้อน...

"ในสภาพดังกล่าวมนุษย์ จึงอยู่ในวังวนแห่งความสับสนและหวาดระแวง "เราหลงลืมอะไรบางอย่าง" จึงเป็นแกนกลางที่โยงเรื่องทั้งหมดเข้าด้วยกันทำให้ฉุกคิดว่า เราหลงลืมอะไรบางอย่างในชีวิตหรือไม่"

เป็นคำตัดสินของคณะกรรมการ รางวัลซีไรต์

กล่าวสำหรับตัวนักเขียน-วัชระ สัจจะสารสิน (นามปากกา) เกิดเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2518 เป็นชาว อ.ควนเนียง จ.สงขลา เรียนจบชั้นประถมจากโรงเรียนบ้านควนเนียง ชั้นมัธยมจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา ปริญญาตรี/โท คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ศาลปกครอง

"เราหลงลืมอะไรบางอย่าง" เป็นรวม 12 เรื่องสั้น

ลองทบทวนกันดูสักหน่อยว่า มี "อะไรบ้าง" ที่ "เราหลงลืม"

นักปฏิวัติ : เรื่องราวของหนุ่มนักศึกษาคนหนึ่ง ที่กำลังเตรียมตัวจะไปเสนอรายงานเกี่ยวกับเรื่องราวการปฏิวัติ หน้าชั้นเรียน โดยตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมา ในห้องที่ไม่เคยถูกทำความสะอาด เขาค้นคว้าเอกสาร เพื่อเตรียมทำรายงานอย่างหน่วงหนัก จนบางครั้ง เผลอคิดว่าตัวเองเป็นนักปฏิวัติไปด้วย แต่แล้ว เมื่อถึงวันที่ต้องเสนอรายงาน ในช่วงเดียวกับที่เหตุบ้านการเมืองมีกระแสข่าวการปฏวัติหนาหู เขาก็ต้องพบกับปัญหาว่า เพื่อนๆ รวมถึงครู อาจมองว่าเขาเลือกทำรายงานตามกระแส อันเป็นเรื่องที่เสียศักดิ์ศรีในความคิดปัจเจกชนอย่างเขา และอีกปัญหาคือ เขาไม่มีความกล้าพูดจาต่อหน้าผู้คน สุดท้าย เขาก็ตัดสินใจเลือกทำอะไรบางอย่าง

เรื่องเล่าจากหนองเตย : ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง หนุ่มดีกรีปริญญาตรีจากเมืองกรุง มุ่งหวังกลับมาเปลี่ยนแปลง "หนองเตย" - หนองน้ำที่ร่ำลือกันมาตลอดว่า มีพรายน้ำอาศัยอยู่ เป็นพรายน้ำที่ได้พรากเอาชีวิตของผู้ที่ลบลู่ท้าทาย ให้จมลงสู่ก้นบาดาลมาแล้วมากมาย เขานำรถแบ๊คโฮเข้ามา นำผู้คนจากในเมืองเข้ามา ขุดลอกหนองเตยจนแทบจะไม่เหลือเค้ารอยเดิม ท่ามกลางเสียงโต้แย้งคัดค้านจากคนในหมู่บ้าน กระทั่งวันหนึ่ง ท่ามกลางชีวิตที่รุ่งโรจน์ริมหนองเตย สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็มาเยือนเขา อะไรบางอย่าง

เพลงชาติไทย : ทุกคนในตลาดแห่งนั้นต้องหยุดยืนตรงเมื่อเพลงชาติไทยดังขึ้น ยกเว้นเขา ชายผู้ที่คนในตลาดไม่มีใครคิดเกลียดชัง กฎหมายบ้านเมืองไม่เคยคิดเอาผิด กระทั่งการมาของตำรวจหนุ่มนายหนึ่ง แม้จะมีการชี้แจงตำรวจเกี่ยวกับชายผู้นั้นมากเพียงใด แต่นายตำรวจผู้มาใหม่ ก็ยังจะเอาโทษกับคนที่ไม่ยืนตรงเคารพธงชาติเสียให้ได้ นายตำรวจกำลังหลงลืมอะไรบางอย่างไปหรือเปล่า ว่าชายผู้นั้นเป็นคนบ้า

นี่เป็นเพียงเรื่องสั้นส่วนหนึ่งใน "เราหลงลืมอะไรบางอย่าง"

หนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ปีล่าสุดที่ผู้คนอาจหลงลืม เพราะถูกกระแสการเมืองกลบ

สุดสัปดาห์ที่ "ร้อนระอุ" แบบนี้ พักผ่อนอยู่บ้าน ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน บางที เราอาจค้นพบสิ่งที่เราหลงลืมไปก็เป็นได้ เพราะใช่ไหมว่า เหนือยิ่งกว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง เราทั้งผองล้วนพี่น้องกัน แล้วจะหมายฟาดฟันกันไปไย

เราหลงลืมอะไรหรือเปล่า?




 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น