วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ลับแล, แก่งคอย (2552)

ลับแล, แก่งคอย (2552)

      ลับแล, แก่งคอย เล่าเรื่องชีวิตเด็กชายวัยรุ่นที่ถูกอำนาจแห่ง ความถูกต้องควบคุมโดยไม่รู้ตัว ความคิดและการดำเนินชีวิตที่ถูกกำหนดไว้นั้นมีพลังอำนาจเกินกว่าจะขัดขืน ชีวิตที่ขาดอิสระจึงเหมือนการเดินวนอยู่ในเขาวงกต ทางออกของเขาที่ดูเหมือนว่ามีอยู่เพียงทางเดียวจึงเกือบนำไปสู่การแตกสลาย ของตัวตน
นวนิยายเรื่องนี้จึงทำให้เราตระหนักว่า การตอบคำถาม ฉันคือใคร?” อาจเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์

เรื่องมีอยู่ว่า... เรื่องเล่าถึง เหตุการณ์ในชีวิตจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ มาถึงสุดท้ายของความตาย ส่งทอดเป็นจิตวิญญาณอันทุพลภาพสู่คนรุ่นลูกหลาน เพื่อค้นแสวงถึงความหมายอันแท้จริงของ "กาลเวลา" ที่ผ่านพ้นไป
ในนามของความเปลี่ยนแปลงอันกลับกลอกสิ้นดี
ฉันไม่เห็นด้วยแม้แต่น้อยที่ผู้แต่งเรื่องนี้ หยิบฉวยเอาวาทะของนักเขียนผู้ทรงอิทธิพลของโลกมาใช้เป็นบทนำเล็ก ๆ ในแต่ละภาคทั้ง 5 ภาคของนวนิยายเรื่องนี้ แม้นว่ามันจะเป็นความลงตัวมากมายเพียงไรก็ตาม หรือมันจะสื่อสารถึงนัยยะอื่นอันสลักสำคัญยิ่งต่อนวนิยายมากเพียงไร มันก็ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น

ขณะที่กาลเวลาหายใจของมันอยู่อย่างสม่ำเสมอนั้น มันได้กะเกณฑ์ ได้ฉีกทึ้ง ได้ชำแรกเอาความรู้สึก นึก คิด และจิตวิญญาณของเราอย่างหน้าตาเฉย ลับแล,แก่งคอยเองได้ทำหน้าที่เป็นสถานพำนักที่รอคอยการค้นพบ รอคอย..ขณะที่เร่งเร้าผู้อ่านอย่างเราทุกขณะ จนบางครั้ง มันดูเหมือนนวนิยายสืบสวนสอบสวน ที่ตัวฆาตกรคือ "ข้อเท็จจริง" ในนามของ "ความเป็นจริง" ที่จะไขรหัสสัญญะต่าง ๆ ซึ่งแขวนรอการค้นหาตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง เริ่มตั้งแต่

-ลับแล ชื่อเมืองอันเป็นต้นสกุลของผม มาถึงความทับซ้อนของตัวละครระหว่างลับแล (น้องชาย) กับแก่งคอย (พี่ชาย) การที่ลับแล "โยน" บุคลิกด้านร้ายที่มีอยู่ในตัวให้เป็นตัวตนของอีกคนคือ แก่งคอย กระทั่งแขนข้างที่บิดงอผิดรูปของลับแล

ลับแล,แก่งคอย บอกเล่าเรื่องราวของสัญชาตญาณแห่งความเป็นมนุษย์ ความหยั่งรู้ และภูมิปัญญาอันหมิ่นเหม่ และหากว่ามันจะเป็นนวนิยายเชิงอัตชีวประวัติ ของผู้แต่ง อุทิศ เหมะมูล ฉันจะไม่ถามต่อเลยว่า แล้วชีวิตของนายอุทิศ เหมะมูลและโคตรเหง้าบรรพบุรุษเขาจะมีฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์อะไรที่จะทำให้นวนิยายเรื่องนี้สลักสำคัญหรือทรงคุณค่าขึ้นมาได้ ก็แค่ประวัติคนธรรมดา ๆ ไม่ได้เป็นบุคคลผู้ทำคุณูปการแก่ประเทศชาติบ้านเมืองสักหน่อย เพราะนั่นไม่ใช่คำถามที่ควรถามกับนวนิยายเรื่องนี้

เพราะมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากทัศนะคติที่เชิดชูวีรบุรุษ หากแต่มันได้บอกกล่าวแก่เรา ตั้งถามร่วมกับเราอย่างองอาง และอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ อยู่บ้างว่า ชีวิตนั้นแท้แล้วเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ หรือเพียงไหน แท้จริงแล้วอะไรทำให้เราเจ็บปวด อะไรเปลี่ยนแปลงเรา อะไรให้กำเนิดเรา และอะไรได้พรากเราไปจากชีวิตที่แท้ของเรา

ข้อสุดท้าย มันได้บอกแก่เราอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ชีวิต เป็นมากกว่า ภูมิปัญญา ที่เราจะกล่าวขานถึงความสำคัญของมัน

ชีวิตไม่ได้ประกอบขึ้นจากความทรงจำ และร่องรอยต่าง ๆ ที่ปรากฎเท่านั้น หากแต่มันดำเนินของมันมาแต่บรรพกาล ทั้งที่ปรากฎและไม่เคยปรากฎ ทั้งที่หลงลืมไปแล้ว และได้เลือกจดจำทั้งที่มันไม่ใช่ความจริง และทั้งที่มันถูกบิดเบือนครั้งแล้วครั้งเล่า

มันได้ฝังอยู่ใน "สภาพ" ของจิตวิญญาณอันฟุ้งกระจาย และไร้พันธะต่อกายภาพ หากเมื่อ "ภูมิประเทศ" แห่งสภาพจิต ถูกกดดัน ถูกไถ่ถามอย่างจะตั้งคำถาม ถึงความมีอยู่ของมัน เมื่อนั้นเอง บรรดาความเจ็บปวดรวดร้าวทั้งหลายทั้งปวงที่บิดผันอยู่เป็นบาดแผลแห่งการจองจำอันมีลมหายใจ ก็พร้อมย่างกรายออกมาเรียกร้องการชำระล้างความผิดบาปทั้งมวล ชำระล้างความจริงเท็จทั้งมวล เพื่อให้ปรากฎซึ่งความจริง มันจะคงอยู่ และเป็นเช่นนั้น

เหมือนกับที่ลับแลต้องยอมจำนนในขณะที่ตัวเขาเป็นดั่งสัญชาตญาณแห่งความเจ็บปวดทุรนทุรายอันฝังลึก พร้อมจะล้างแค้นหรือล้างบาปก็ได้ เขาเลือกจะล้างแค้น บิดเบือนความจริง เปลี่ยนความทรงจำแง่ร้ายเป็นภาพลวงตา เพื่อสถาปนาความจริงอันเป็นเท็จขึ้นมาตอบสนองสัญชาติญาณแห่งความเจ็บปวดนั้น

สุดท้าย ลับแล ต้องยอมจำนนต่อความจริง ต่อความผิดหวังครั้งใหญ่หลวงต่อหน้าหลวงพ่อ ในการชำระล้างที่ "แม่" ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดในครั้งเขาเป็นทารก และในครั้งนี้ แม่ก็ยังเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตใหม่ภายใต้บทบัญญัติแห่งความจริง ละทิ้งความคุลมเครืออันหลอนลวงในอดีต เช่นเดียวกับที่แม่เป็นผู้บิดแขนข้างหนึ่งของเขาจนคดงอผิดรูปมาถึงทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น