วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ช่างสำราญ ( 2546)

ช่างสำราญ ( 2546)
                     มนุษย์ตะกายฝันไปสู่ดวงดาวจนมองไม่เห็นรอยร้าวบนฐานราก ความหรรษาที่เจือความขมปร่าของชีวิต ซึ่งคุณอาจจะยิ้ม
นิดๆ ในความซื่อใสไร้เดียงสา หรือ อาจปาดน้ำตาถอนสะอื้น อยาก
ยื่นมือออกไปช่วยเหลือ และเอื้อใจออกไปโอบอุ่น
หรืออย่างน้อย ก็ไม่เบือนสายตา เมินหน้าหนี นี่คือนวนิยายที่เรียบง่ายและงดงาม เปี่ยมไปด้วยความหวัง ความฝัน และความเชื่อมั่นศรัทธาในด้านดีของจิตใจของมนุษย์
            นี่คือสุ่มเสียงแห่งความเงียบงันของยุคสมัย ที่ผู้คนรีบเร่ง ตะกายฝัน แข่งขันกันไปสู่ดวงดาว จนมองไม่เห็นรอยร้าวบนฐานราก หรือ รูรั่วบนหลังคาสลัมเบื้องล่าง กระทั่งจานอาหารที่ว่างเปล่า เสียงหัวเราะและร้องไห้
            นี่คือชีวิตชนิดใด ...ผู้เขียนได้ตั้งคำถามและเชื้อเชิญให้เราได้ทอดสายตามองเอื้อมมือออกไปสัมผัสและเปิดหัวใจออกไปสดับรับฟัง เรื่องราวอันแสนจะธรรมดาสามัญทั้งหลายทั้งปวงนั้น ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไปจากความคุ้นชินเดิมๆ เรื่องราวของผู้คนเล็ก ในชายขอบนาคร ซุกซ่อนตัวเองอยู่หลังตึงสูงและกำแพงหนาทึบ  เป็นชุมชนห้องแถวที่ไร้ชื่อ หากเสมือนหนึ่งภาพจำลองของชุมชนมนุษย์บนโลกกลมๆ ใบนี้ผ่านชีวิตของเด็กชายเล็กๆ คนหนึ่งกับผู้คนเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง
            ก่อนที่ผู้เขียนจะถอยห่างออกมาอย่างมีมารยาท ไม่คาดคั้นเอาคำตอบ ไม่ได้เทศนาสั่งสอนหรือไล่ต้อนเราด้วยลีลาดุเด็ดเผ็ดร้อน หากเล่าด้วยเสียงเอื้ออาทรอ่อนโยนแบบผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว มานาน มีอารมณ์ขันที่แม้จะเจือความขื่นและเสียดเย้ยอยู่บ้างในที แต่ก็มิได้ทำตัวเป็นนักมนุษยธรรมหน้าแป้นพิมพ์ดีด ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มองโลกในแง่ดีหรือร้ายจนเกินไป ผู้เขียนมองโลกมนุษย์อย่างที่มันเป็น เป็นกลางๆ และมีความหวังเต็มเปี่ยมในชีวิต ว่าคนดีและสิ่งดีๆ ยังมีอยู่ และโลกที่สุขสันติหรือสังคมในอุดมคตินั้นเป็นจริงได้ โดยเริ่มต้นจากข้างในจิตใจของมนุษย์นี่เอง ขอเพียงเขาเลิกก่อกำแพงกักกั้น กีดกันตัวเองจากคนอื่น และหันมาสร้างสะพานแห่งความ     รักความเข้าใจ โยงสายใยเอื้ออาทรสู่เพื่อมนุษย์ด้วยกัน โลกนี้ก็แสนหฤหรรษ์ และ
      ช่างสำราญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น